วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ประเพณีโฮมบุญออกพรรษา แห่กระธูป ประจำปี 2556 จังหวัดชัยภูมิ

ประเพณีทำบุญวันออกพรรษาที่ จังหวัดชัยภูมิ


ดินแดนแห่งทุ่งดอกกระเจียวงาม สายน้ำตกชุ่มฉ่ำยามหน้าฝน ผืนป่าอันกว้างใหญ่อุดมที่ภูเขียวแหล่งรวมความหลากหลายของธรรมชาติ ความมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ขึ้นอย่างมอหินขาวเรียกได้ว่าจังหวัดชัยภูมิเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพทางการท่องเที่ยวเด่นล้ำไม่น้อยหน้าใครในภาคอีสาน
         จังหวัดชัยภูมิ ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครราชสีมา จัดงานบุญยิ่งใหญ่ "ประเพณีโฮมบุญออกพรรษา แห่กระธูป" ในระหว่างวันที่ 13-17 ตุลาคม 2556 ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ

          งานบุญเทศกาลทำบุญวันออกพรรษา "ประเพณีโฮมบุญออกพรรษา แห่กระธูป" ถือเป็นงานที่ส่งเสริมความสามัคคีในชุมชน รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในจังหวัดชัยภูมิ ภายในงานมีกิจกรรมการชมขบวนแห่ที่ยิ่งใหญ่และอลังการ รวมทั้งการประกวดต้นกระธูปที่สูงและใหญ่ที่สุด สร้างโดยชาวบ้านอำเภอหนองบัวแดง รวมทั้งมีการจัดแต่งตามสไตล์ที่หลายหลากตามแต่ละพื้นที่ อีกทั้งกิจกรรมการแสดงดนตรีพื้นบ้านและมหรสพมากมาย รวมถึงการแสดงและจำหน่ายสินค้าที่มีชื่อเสียงของเมืองชัยภูมิอีกด้วย

          ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ที่ว่าการอำเภอหนองบัวแดง โทรศัพท์ 0 4487 2123, 08 6879 0287 หรือ ททท.สำนักงานนครราชสีมา โทรศัพท์ 0 4421 3030, 0 4421 3666


เกร็ดความรู้ "ประเพณีบุญแห่กระธูป"

ในวันออกพรรษา ชาวพุทธจะถวายการสักการะองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากโปรดพุทธมารดา ชาวพุทธทั้งหลายต่างเฉลิมฉลอง และในกาลนี้ ชาวพุทธในภาคอีสาน โดยเฉพาะชาวอำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ได้จัดทำต้นหระธูปโดยการนำธูปพันด้วยกระดาษสีให้เป็นลวดลายต่างๆ แล้วประกอบเป็นต้น ร่วมสมโภชและนำไปจุดยังวัดต่างๆ ในการจัดทำกระธูปครั้งแรกเริ่มจัดทำที่บ้านราษฎร์ดำเนินโดยทำต้นกระธูปและจัดให้มีมหรสพสมโภชก่อนวันออกพรรษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 และเมื่อปี พ.ศ. 2545 อำเภอหนองบัวแดงได้เล็งเห็นถึงคุณค่าของประเพณีแห่กระธูปจึงได้จัดให้ชุมชนและวัดต่างๆ ที่เคยมีการทำต้นกระธูป และที่ยังไม่เคยทำต้นกระธูปให้ร่วมกันประดิษฐ์ต้นกระธูป  เพื่อเป็นการสืบสานประเพณี  และเป็นหนึ่งในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของอำเภอหนองบัวแดง
"ประเพณีแห่กระธูป" ที่ตำบลหนองบัวแดง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ  ในประเพณีบุญออกพรรษาของทุกปี ชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจกันสร้างกระธูปโดยจะตีเกราะเคาะขอลอ ให้ชาวบ้านออกไปรวมตัว ณ จุดนัดหมาย (อาจเป็นศาลากลางบ้านหรือบ้านผู้ใหญ่บ้าน) ไปพันกระธูป  ซึ่งกว่าจะเป็นธูปจุดไฟได้ต้องผ่านกระบวนการยาวนานพอสมควร เพราะมันไม่ใช่กระธูปหรือธูปที่วางขายตามตลาด แต่มันเกิดมาจากการขยี้เอามาจากกาบมะพร้าวจนร่วงออกมาเป็นผง แล้วพันด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์หุ้มอีกทีด้วยกระดาษสีหรือกระดาษแก้วหลากสีสัน  ก่อนที่จะนำไปมัดเข้ากับดาวก้านตาล(สานจากใบตาลหรือใบลาน) จากนั้นจึงนำไปมัดห้อยกับก้านธูปที่เป็นเสมือนคันเบ็ด ทำไว้มาก ๆ เสร็จแล้วจึงจะนำเข้าไปเสียบเข้าไปรูรอบปล้องไม้ไผ่ ทำเป็นชั้นขึ้นไปเหมือนฉัตร ประดับตกแต่งงดงาม ก่อนที่จะนำออกไปจุดในวันเวียนเทียนออกพรรษา
ความร่มเย็นอันยิ่งใหญ่ของ กระธูป สัญลักษณ์แทนต้นหว้า ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำชมพูทวีป ถูกบันทึกไว้ในหนังสือฎีกาพระมาลัยสูตร ความว่า ลักษณะของต้นธูปมีความยาวประมาณ 50 โยชน์ มีกิ่งใหญ่ 4 กิ่ง แผ่ออกไปใน 4 ทิศทาง กว้างเป็นปริมณฑลได้ 100 โยชน์ หมายถึง พระพุทธศาสนานี้ เป็นร่มเย็นแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย เปรียบเอา ต้นธูปนี้ จุดแล้วย่อมส่งกลิ่นหอมฟุ้งขจรขจายไปยังทิศต่าง ๆ กลิ่นหอมนี้ ย่อมเป็นที่ชื่นใจแก่มนุษย์ทั้งปวงที่ได้สัมผัสกลิ่นย่อมเกิดปีติและความสุขความเบิกบาน คุณค่าทางจิตใจ ประดิษฐ์ขึ้นง่าย ๆ จากวัสดุภายในท้องถิ่น ประกอบด้วย ขุยมะพร้าว ใบอ้ม ใบเนียม โดยนำใบไม้ทั้ง 2 ชนิด มานึ่งแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง จากนั้นนำมาบดอีกครั้งจะได้ฝุ่นไม้ที่มีกลิ่นหอมแล้วจึงนำไปผสมกับขุยมะพร้าวห่อด้วยกระดาษให้ได้รูปทรงยาวเหมือนธูป นำกระดาษสีมาประดับตกแต่งลวดลายให้สวยงาม ส่วนใหญ่นิยมเป็นลายไทยเช่นเดียวกับลายมัดหมี่ แล้วนำธูปที่มัดติดกับดาวซึ่งทำจากใบลานมามัดติดกับคันไม้ไผ่ลักษณะคล้ายคัดเบ็ด แล้วนำไปเสียบไว้กับแกนไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ ความสูงประมาณ 3-5 เมตร รูปทรงคล้ายฉัตรก่อนจะนำไปแห่และจุดไฟบูชา พร้อมกันนี้ให้เอาลูกดุมกา ลักษณะคล้ายส้มแต่มีเปลือกแข็งมาผ่าเป็น 2 ซีก ใส่น้ำมันพืชลงไปแล้วควั่นด้ายเป็นรูปตีนกาเพื่อจุดไฟให้แสงสว่างใต้ต้นกระธูป
งานบุญจะเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าด้วยการทำบุญตักบาตร นำขบวนแห่ต้นกระธูปวนรอบตลาดในเขตเทศบาลตำบลหนองบัวแดง จากนั้นนำต้นกระธูปไปตั้งสมโภชน์ที่วัดบ้านราษฏร์ดำเนิน บริเวณร้านประทีปหน้าพระอุโบสถ ลักษณะของร้านเป็นสี่เสาทำด้วยไม้ไผ่สูงประมาณ 1 เมตร พื้นร้านจะสานเป็นตาสี่เหลี่ยมแซมด้วยกาบกล้วย เสาแต่ละต้นถูกประดับประดาด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย ต้นกระธูป และไต้น้ำมัน
ในตอนกลางคืนจะมีการแสดงฟ้อนรำ การละเล่นของแต่ละหมู่บ้าน ควบคู่ไปกับ การจุดกระธูปบูชาพระรัตนตรัยเป็นเวลา 3 คืน ได้แก่ ขึ้น 14 ค่ำ ชาวบ้านเรียกว่า จุดไต้น้ำมันน้อย ขึ้น 15 ค่ำ เรียกว่า จุดไต้น้ำมันใหญ่ และคืนข้างแรม 1 ค่ำ เรียกว่า ไต้น้ำมันล้างหางประทีป
**ต้นกระธูปทุกต้น จะได้นำไปถวายวัดในพื้นที่ อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ เนื่องในวันออกพรรษา ของทุกปี   เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และมีกิจกรรมเวียนเทียนและต้นกระธูปด้วย

จังหวัดชัยภูมิ นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่จัดงานประเพณีทำบุญวันออกพรรษาที่ใหญ่ไม่แพ้ที่อื่นเลยก็ว่าได้ หากท่านใดที่จะไปเที่ยวก็ลองหาสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดดูซึ่งมาอยู่มากมาย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น