วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2556

เที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาหลวงวันออกพรรษานี้

ทำบุญวันออกพรรษาที่อุทยานแห่งชาติเขาหลวง 

หากท่านที่มาท่องเที่ยวที่นครศรีธรรมราชพลาดไม่ได้เลยที่จะมาเที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาหลวง ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองไม่มากนักแถวยังมีรถผ่านไปผ่านมาสะดวก อีกทั้งหากใครที่ต้องการมาพักผ่อนก็จะมีบ้านพักให้ได้เช่ากัน ขออธิบายสถานที่ท่องเที่ยวของเราในวันนี้กันหน่อย สำหรับท่านที่มาทำบุญวันออกพรรษาที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช



อุทยานแห่งชาติเขาหลวง นับได้ว่าเป็นเขาหลวงที่มีความสูงที่สุดในภาคใต้ และมีสิ่งแวดล้อมที่ดีมาก
ข้อมูลทั่วไป
ป่าเฟินดึกดำบรรพ์ มหัสจรรย์แหล่งกล้วยไม้
ณ บริเวณดินแดนคาบสมุทรทางภาคใต้ของประเทศไทย ในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนทอดตัวเป็นแนวยาว ในบริเวณนี้ส่วนที่เป็น “เทือกเขานครศรีธรรมราช” มี “อุทยานแห่งชาติเขาหลวง” เป็นมรดกทางธรรมชาติที่สำคัญที่สุด ประกอบด้วย “ยอดเขาหลวง” เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในภาคใต้ มีสภาพธรรมชาติที่สมบูรณ์และสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคนี้ เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารหลายสายที่ไหลหล่อเลี้ยงผืนแผ่นดินภาคใต้ตอนกลาง มีสถานที่รื่นรมย์สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ เช่น น้ำตก ภูเขา ยอดเขา ทิวทัศน์ และที่สำคัญมีคุณค่าอันแท้จริงที่จะอำนวยประโยชน์ต่อมนุษยชาติ คือ มีความหลากหลายทางชีวภาพที่สูงยิ่ง

ความเป็นพื้นที่ที่มีประวัติแห่งการต่อสู้ด้านความคิดการปกครองในพื้นที่ผืนป่า “กรุงชิง” ถูกปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 ต่อมาฝ่ายรัฐบาลสามารถยึดพื้นที่ได้ ป่ากรุงชิงแตกในปี 2524 ปัจจุบันยังคงทิ้งร่องรอยหลงเหลือให้ได้เข้าไปศึกษาหาความรู้อีกด้วย ความสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ “น้ำตกหนานฝนแสนห่า” มีเอกลักษณ์แห่งความสวยงามจนเป็นที่ปรากฏอยู่ในธนบัตรใบละ 1,000 บาท ด้วยศักยภาพทั้งทางชีวภาพและกายภาพดังกล่าว อุทยานแห่งชาติเขาหลวงได้รับการขนานนามว่า “หลังคาสีเขียวแห่งภาคใต้” “ขุนน้ำแห่ง แดนใต้ตอนกลาง” “ขุนผามหาสดำ” และ “กรุงชิงร่องรอยแห่งประวัติการต่อสู้ด้านความคิดการปกครอง” เป็นต้น

อุทยานแห่งชาติเขาหลวง ได้รับรางวัล “ยอดเยี่ยม (กินรีทอง)” ประเภท “แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ” จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในการประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวประจำปี พ.ศ. 2541 อุทยานแห่งชาติเขาหลวงมีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอลานสกา อำเภอฉวาง อำเภอเมือง อำเภอพิปูน อำเภอพรหมคีรี กิ่งอำเภอช้างกลาง และกิ่งอำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีเนื้อที่ประมาณ 356,250 ไร่ หรือ 570 ตารางกิโลเมตร

ความเป็นมา: ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2502 ให้กำหนดป่าเขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช และป่าอื่นๆ ในท้องที่จังหวัดต่างๆ รวม 14 ป่า เป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้จึงได้ให้ นายสนธิ พรหมอักษร นักวิชาการป่าไม้โท ทำการสำรวจเบื้องต้นเกี่ยวกับสภาพพื้นที่บริเวณป่าเขาหลวง ปรากฏว่ามีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสาย แม้ว่าป่าเขาหลวงจะถูกวาตภัยในปี พ.ศ. 2505 ทำให้ไม้ขนาดใหญ่ล้มโค่นถอนรากเป็นจำนวนมาก ตลอดจนมีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง เช่น ถ้ำ น้ำตก ยอดเขาสูง ทิวทัศน์ต่างๆ และสัตว์ป่านานาชนิด

กรมป่าไม้จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 1/2517 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2517 เห็นชอบในหลักการให้จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยมีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาหลวง ในท้องที่ตำบลดอนตะโก ตำบลโมคลาน ตำบลหัวตะพาน ตำบลกะหรอ ตำบลนบพิตำ อำเภอท่าศาลา ตำบลเขาพระ ตำบลกะทูน ตำบลพิปูน ตำบลยางค้อม กิ่งอำเภอพิปูน อำเภอฉวาง ตำบลละอาย ตำบลช้างกลาง อำเภอฉวาง ตำบลท่างิ้ว อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ตำบลพรหมโลก ตำบลบ้านเกาะ ตำบลอินทคีรี กิ่งอำเภอพรหมคีรี อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช และตำบลเขาแก้ว ตำบลท่าดี ตำบลกำโลน อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศไว้ในพระราชกิจจานุเบกษา เล่ม 91 ตอนที่ 216 ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2517 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 9 ของประเทศ


 ลักษณะภูมิประเทศ
ในปัจจุบันอุทยานแห่งชาติเขาหลวงมีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ตำบลท่าดี ตำบลกำโลน ตำบลเขาแก้ว อำเภอลานสกา ตำบลละอาย อำเภอฉวาง ตำบลท่างิ้ว อำเภอเมือง ตำบลยางค้อม ตำบลพิปูน ตำบลเขาพระ อำเภอพิปูน ตำบลทอนหงส์ ตำบลบ้านเกราะ ตำบลพรหมโลก อำเภอพรหมคีรี ตำบลช้างกลาง ตำบลสวนขัน กิ่งอำเภอช้างกลาง และตำบลกรุงชิง ตำบลนบพิตำ ตำบลนาเหรง กิ่งอำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช หรือระหว่างเส้นรุ้งที่ 08 องศา 22 ลิบดา - 08 องศา 45 ลิบดา เหนือ และอยู่ระหว่างเส้นแวงที่ 99 องศา 37 ลิบดา - 99 องศา 51 ลิบดา ตะวันออก พื้นที่อุทยานแห่งชาติครอบคลุมเทือกเขานครศรีธรรมราชตอนกลาง ประกอบด้วยเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนทอดยาวเหนือจรดใต้ขนานไปกับชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก มีที่ราบตามหุบเขาเล็กน้อย ดินบนภูเขาเป็นดินที่เกิดจากการผุสลายของหินแกรนิต มียอดเขาสูงสุดคือ ยอดเขาหลวง สูงจากระดับน้ำทะเล 1,835 เมตร เป็นต้นกำเนิดของต้นน้ำลำธารหลายสาย เช่น แม่น้ำตาปี แม่น้ำปากพนัง คลองกรุงชิง คลองเขาแก้ว คลองท่าแพ คลองระแนะ และคลองละอาย อันเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของพื้นที่โดยรอบอุทยานแห่งชาติเขาหลวง เป็นต้น

 ลักษณะภูมิอากาศ
ด้วยเหตุที่อุทยานแห่งชาติแห่งนี้ตั้งอยู่บนคาบสมุทร จึงได้รับลมมรสุมที่พัดผ่านทะเลทั้งสองด้าน ทำให้ฝนตกเกือบตลอดปีและมีอากาศค่อนข้างเย็น มีเมฆปกคลุมถึงร้อยละ 14-15 ทำให้เกิดฤดูกาลเพียง 2 ฤดู คือ ฤดูฝนจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนมกราคม ปริมาณฝนตกมากในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปี 3,500-4,000 มิลลิเมตร และฤดูแล้งเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 15-17 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนธันวาคม และอุณหภูมิสูงสุดประมาณ 28-30 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนเมษายน

 พืชพรรณและสัตว์ป่า
อุทยานแห่งชาติเขาหลวง มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูง ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมทั้งสองด้าน ทำให้มีสภาพชื้นและปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสูง พืชพรรณไม้ส่วนใหญ่จึงเป็นสังคมพืชป่าดงดิบ ซึ่งสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ

ป่าดิบเขา เป็นป่าที่ขึ้นอยู่เหนือระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1000 เมตรขึ้นไปจนถึงยอดเขาที่มีเมฆหมอกคลุม พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ เหมือด กำยาน แดงเขา ก่อเขา บุญนาคเขา จำปูนช้าง ฯลฯ พืชคลุมดินส่วนใหญ่คล้ายป่าดิบเขาระดับต่ำแต่จะมีพืชหญ้าขึ้นมาก ได้แก่ บัวแฉกใบใหญ่ บัวแฉกใบมน หวายเหิง หวายแซ่ม้า หวายเขา เป็นต้น

ป่าดงดิบชื้น ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติเกือบทั้งหมด พืชประจำถิ่นและไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ได้แก่ ยาง ตะเคียนทอง ไข่เขียว ตะเคียนทราย สยาขาว กระบากดำ กระบากขาว พันจำ หลุมพอ เอียน เชียด อบเชย เทพทาโร จำปาป่า ก่อ แดงคาน แดงเขา ยมป่า ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีกุหลาบพันปี กุหลาบเขาหลวง เต่าร้างยักษ์ หวายหอม หวายไม้เท้า ไผ่เกรียบ ก้ามกุ้งหลายชนิด และมหาสดำซึ่งเป็นเฟินต้นประจำถิ่นของอุทยานแห่งชาติเขาหลวง เป็นต้น

พืชอิงอาศัยซึ่งเกาะตามลำต้นและกิ่งไม้ นอกจากมอสและเฟินแล้ว ยังพบพืชที่น่าสนใจโดยเป็นพืชหายากหลายชนิด เช่น ระย้าหยก และกล้วยไม้ชนิดต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะมีอยู่มากกว่า 300 ชนิด บางชนิดเป็นกล้วยไม้เฉพาะถิ่นที่พบเพียงแห่งเดียวในโลก เช่น สิงโตพัดเหลือง สิงโตอาจารย์เต็ม ขนตาสิงโต เอื้องสายเสริตสั้น เอื้องแดงหิน กล้วยปลอก เอื้องคีรีวง เป็นต้น

ผลของการสำรวจชนิดและประชากรสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติเขาหลวง เมื่อปี 2534 พบว่า อุทยานแห่งชาติเขาหลวงเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าไม่น้อยกว่า 327 ชนิด สัตว์ป่าที่พบเห็น เช่น สมเสร็จ เลียงผา ลิงกัง ลิงเสน ค่างดำ ค่างแว่นถิ่นใต้ ชะนีธรรมดา เสือลายเมฆ เสือดำ เสือโคร่ง หมีหมา เก้ง กวางป่า เม่นหางพวง สัตว์จำพวกนก เช่น นกอินทรีดำ ไก่ฟ้าหน้าเขียว ไก่ป่า นกเขาเปล้าธรรมดา นกหว้า นกเงือกหัวหงอก นกเงือกปากดำ นกกก นกชนหิน นกโพระดกหลากสี นกพญาปากกว้างท้องแดง และนกกินปลี ฯลฯ

นอกจากนี้ ในบริเวณเขาหลวงยังพบสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่หายากหลายชนิด เช่น งูลายสายมลายู เต่าจักร งูหลามปากเป็ด งูสามเหลี่ยมหัวหางแดง จิ้งจกนิ้วยาวกำพล ตุ๊กแกป่าโคนนิ้วติด จิ้งเหลนเรียวปักษ์ใต้ งูเขียวดงลาย กบเขาท้องลาย กบตะนาวศรี เขียดงูศุภชัย เป็นต้น ในบริเวณแหล่งต้นน้ำลำธารของอุทยานแห่งชาติเขาหลวง จะพบสัตว์น้ำในปริมาณน้อย เนื่องจากมีกระแสน้ำไหลแรง ปริมาณสารอาหารในน้ำมีน้อย พื้นน้ำเป็นหินและทรายไม่เหมาะกับการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ ที่พบได้แก่ ปลาพลวง ปลาแฮะ ปลาไส้ขม ปลาซิวน้ำตก ปลาอีกอง ปลาติดหิน ปูน้ำตก เป็นต้น

อุทยานแห่งชาติเขาหลวง
หมู่ที่ 4 บ้านร่อน ต.เขาแก้ว  อ. ลานสกา  จ. นครศรีธรรมราช   80230
โทรศัพท์ 0 7530 0494, 0 7539 1218, 0 7539 1240   โทรสาร 0 7530 0494,08 68666520   อีเมล reserve@dnp.go.th

หากท่านที่ต้องการมาเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราชนอกจากมาทำบุญวันออกพรรษาแล้วนั้นแนะนำให้มาในช่วงฤดูหนาว เพราะอากาศจะดีมาก ๆ แต่หากวันออกพรรษานี้ยังไม่มีสถานที่เที่ยวไหนก็ขอเชิญมาเที่ยวกัน




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น